การปลูก กล้วยหอมทอง

2463
กล้วยหอมทอง

กล้วยหอมทอง เป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้นเหมาะสำหรับปลูกในประเทศไทย เป็นพืชที่มีแผ่นใบใหญ่จึงไม่ค่อยทนต่อแรงลม เนื่องจากใบจะต้านลมทำให้ใบแตก ซึ่งถ้าหากใบแตกจนเป็นฝอยทำให้กล้วยหอมมีการสังเคราะห์อาหารได้น้อย ต้นไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ดังนั้น ถ้าปลูกในพื้นที่ที่มีลมแรงมากควรปลูกต้นไม้อื่นทำเป็นแนวกันลมให้ต้นกล้วยหอม ไม่ควรปลูกต้นหอมในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 14 องศาเซลเซียส เพราะจะทำให้กล้วยหอมหยุดชะงักการเจริญเติบโตหรือเติบโตช้าลง รวมทั้งการออกดอกและผลจะช้าก็ลงเช่นตามไปด้วย ส่วนประโยชน์ของ กล้วยหอมทอง เป็นผลไม้ที่ให้พลังงานที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ทันที นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการจุกเสียดแน่นท้องได้ เพราะมีสารลดกรดตามธรรมที่อยู่ในตัวของมันเอง ฉะนั้น

เรามาดูวิธีการปลูกกล้วยหอมทองและดูแลกล้วยหอมทองกัน

            1. การเตรียมดินสำหรับปลูก

            ดินที่เหมาะกับการปลูกกล้วยหอมทอง คือ ดินตะกอนธารน้ำ หรือชาวบ้าน เรียกว่า “ดินน้ำไหลทรายมูล” ซึ่งเป็นดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยให้ทำการตากดินโดยการไถพรวน ประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคภายในแปลงที่จะปลูก ถ้าเป็นแปลงที่เคยปลูกมาก่อนแล้วให้ทำการตากดินนานกว่าเดิม พร้อมโรยปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อโรค หลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของดิน  แปลงสำหรับปลูกต้องมีการระบายน้ำและหมุนเวียนอากาศได้ดี แต่ถ้าปลูกในดินเหนียว ต้องใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ดินร่วนโปร่งรากให้สามารถแผ่กระจายเพื่อหาอาหารได้ดีเพิ่มขึ้น

            2. การเตรียมหน่อสำหรับปลูก

          ต้องเลือกหน่อพันธุ์ที่ไม่เป็นโรค โดยเลือกพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือหน่อที่ดี และให้ผลผลิตสูง ลักษณะต้นพันธุ์ที่นำมาปลูกควรเลือกแบบหน่อใบแคบ หรือเรียกว่า “หูกวาง” มีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร มีใบประมาณ 2-3 ใบ ก่อนปลูกให้นำหน่อกล้วยจุ่มลงในสารละลาย (ปุ๋ยเกล็ด 2 ช้อนโต๊ะ และฮอร์โมนเร่งราก 1 ช้อนโต๊ะ และน้ำ 50 ลิตร) เพื่อให้กล้วยแตกรากได้ดีขึ้น

            3. การปลูกหน่อกล้วยหอมทอง

          กล้วยเป็นพืชที่มีใบยาว หากปลูกในระยะที่ใกล้กันมากอาจทำให้ใบเกยกันหรือซ้อนกัน ทำให้ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ โดยระยะการปลูกที่เหมาะสม คือ 2.5 X 3 เมตร หรือ 2.5 X 2.5 เมตร การปลูกต้องขุดหลุมให้มีความกว้าง 50 เซนติเมตร ความลึก 50 เซนติเมตร พร้อมกับนำดินที่ขุดได้ไปกองตากไว้ 5-7 วัน หลังจากนั้นเอาดินชั้นบนที่ตากไว้ลงในก้นหลุม ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้วให้สูงขึ้นมาประมาณ 20 เซนติเมตร  คลุกเคล้าปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักกับดินชั้นบนที่ใส่ลงไป แล้วเอาหน่อกล้วยหอมทองที่เตรียมไว้วางตรงกลางหลุม เอาดินล่างกลบ รดน้ำ และกดดินให้แน่น ยอดของหน่อควรสูงกว่าระดับดินประมาณ 10 เซนติเมตร

            4. การดูแลรักษาต้นกล้วยหอมทอง

            เดือนที่ 1-2 เป็นช่วงเวลาในการคอยดูลำต้นให้แข็งแรง และให้รากงอกเต็มหลุมโดยการหมั่นพรวนดิน และเติมปุ๋ย

            เดือนที่ 3-4 หน่อกล้วยเริ่มแตกออก ให้ตัดยอดอ่อนทิ้ง ปล่อยให้หน่อกล้วยช่วยพยุงต้น

            เดือนที่ 5-6 แยกหน่อกล้วยรอบๆ ต้นหลักออก เหลือไว้เพียง 2 หน่อเพื่อช่วยในการพยุงต้นหลัก ส่วนหน่อกล้วยที่แยกออกมาให้นำไปปลูกลงพื้นที่ใหม่ได้

            เดือนที่ 7 รดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย เพื่อให้ผลออกมาให้มีขนาดใหญ่และรสหวาน

            เดือนที่ 8 ต้นกล้วยหอมทองออกปลีกล้วย

            เดือนที่ 9 ต้องหมั่นคอยดูเครือกล้วยไม่ให้ลำต้นหัก โดยการหาไม้มาค้ำยัน เนื่องจากกล้วยหอมทองจะมีลักษณะเครือใหญ่และหนักมาก หลังจากนั้นรอกล้วยหอมทองแก่พร้อมตัดต่อไป Gurude.co