รับมือกับปัญหาส่วนต่อเติมบ้านทรุด

2001
ส่วนต่อเติมทรุด

               ปัญหาเรื่องบ้านอีกหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ทำให้เจ้าของบ้านรู้สึกหนักใจอยู่ไม่น้อยคือปัญหา ส่วนต่อเติมทรุด เนื่องจากบ้านในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว หรือทาวน์โฮม บ้านหลังใหญ่หรือหลังเล็กก็มักนิยมทำการต่อเติมเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย โดยเฉพาะในส่วนของห้องครัวหรือพื้นที่ซักล้างหลังบ้าน หรือโรงรถบริเวณหน้าบ้านก็สามารถจัดสันปันส่วนในการต่อเติมบ้านได้
                ปัญหาเรื่องใน ส่วนต่อเติมทรุด จากตัวบ้านเดิมด้วยเสาเข็มสั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติ และมีคำถามมาอย่างสม่ำเสมอว่า ครัวหรือส่วนที่ทำการต่อเติมมาเริ่มแตกร้าว เอียงล้มจนใกล้พัง แล้วจะทำอย่างไรได้บ้าง ???
               การต่อเติมด้วยเสาเข็มสั้นนั้น อาจจะเกิดการทรุดตัวมากกว่าตัวบ้านที่ใช้เสาเข็มยาว หากส่วนต่อเติมนั้นมีการก่อสร้างมาอย่างถูกหลักการ คือทำการแยกโครงสร้างตัดขาดจากตัวบ้าน  ปัญหาที่พบก็จะมีเพียงเกิดรอยร้าว หรือช่องว่างที่อยู่ระหว่างรอยต่อของส่วนต่อเติมกับตัวบ้าน ซึ่งสามารถแก้ไขได้อย่างง่าย ๆ ด้วยการอุดด้วยวัสดุที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งมีขายทั่วไปตามร้านค้าวัสดุทั่วไป  สามารถซ่อมแซมกันเองได้โดยไม่ต้องจ้างช่างให้เสียตัง

ปัญหาที่หนักจะเกิดกับส่วนต่อเติมที่มีการก่อสร้างเชื่อมต่อกับตัวบ้านจนทำให้เกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งสามารถแยกปัญหาดังกล่าวเป็น 2 แบบ

          1. การที่ช่างทำการสร้างโครงสร้างส่วนต่อเติมแยกขาดกับตัวบ้าน แต่มีการก่อผนังหรือปูกระเบื้องเชื่อมต่อ หรือชนกับตัวบ้าน  รอยร้าวจะเกิดที่รอยต่อผนังที่ก่อชนกันกับตัวบ้าน  ยิ่งถ้ามีการบุกระเบื้องผนัง หรือปูกระเบื้องพื้นไปชน รอยแตกร้าวจะยิ่งมีมากขึ้น แต่ในกรณีนี้ การแก้ไขทำได้ไม่ยาก  สามารถแก้ไขโดยการตัดกระเบื้องบริเวณรอยต่อออก แล้วตัดแยกส่วนผนังที่ก่อชนออก  ในส่วนของพื้นให้สกัดและทำการปูทรายปรับระดับที่เทชนผนังตัวบ้านเดิมออกให้หมด หลังจากนั้นจึงปูกระเบื้องพื้นใหม่ โดยกันร่องบริเวณรอยต่อชนไว้ประมาณ 1 ซ.ม. แล้วอุดด้วยวัสดุยืดหยุ่นประเภท PU เพื่อป้องกันน้ำและแมลง อีกที
          2.  การที่ช่างทำการก่อสร้างโครงสร้างพื้นและหลังคาเชื่อมยึดกับตัวบ้านโดยตรง   จะเกิดการทรุดตัว ดึงรั้งให้ผนัง  และหลังคาแยกออกจากตัวบ้าน การแก้ไขทำได้ค่อนข้างยาก ปัจจัยหลักขึ้นกับอัตราการทรุดตัวของดินบริเวณนั้น กับความแข็งแรงของโครงสร้างส่วนต่อเติม แนวทางในการแก้ไขมีดังนี้
2.1 หากอัตราการทรุดตัวของดินมีไม่มาก รอยแตกร้าวจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในช่วงต้น แต่จะน้อยลง เนื่องจากปกติดินจะทรุดตัวจนถึงระดับที่ดินแน่น รอยแตกร้าวจะน้อยลงหรือหยุดได้ในที่สุด  ดังนั้น การซ่อมรอยร้าวแนะนำให้อุดด้วยวัสดุอุดประเภทยืดหยุ่น อย่าอุดด้วยปูน ซ่อมหลังคาโดยใส่ปีกนก เพื่อป้องกันน้ำรั่ว
2.2 หากอัตราการทรุดตัวของดินค่อนข้างมาก รอยแตกร้าวจะค่อนข้างกว้าง พื้นจะเอียง เทออกจากแนวอาคาร จนไม่สามารถใช้งานได้ แต่หากการทรุดตัวของพื้นหยุดหรือน้อยลงมากแล้ว ให้ทำการรื้อผนังโดยรอบออกให้หมด เปลี่ยนวัสดุผนังเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา เช่น ผนังไม้เทียม รวมถึงเคาน์เตอร์ครัวทั้งหมด ให้ใช้มวลเบา หรือใช้โครงเหล็กบุด้วยไม้เทียม ส่วนพื้นปรับระดับใหม่ ก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงลงได้ค่อนข้างมาก หรืออีกวิธีคือการเสริมด้วยเสาเข็มประเภทไมโครไพล์ อาจจะเป็นเสาเข็มท่อเหล็ก หรือเข็มคอนกรีตท่อนเล็ก ๆ ใช้เครื่องตอกขนาดเล็กตอกเสริมเพื่อรับน้ำหนักของโครงสร้างครัว  ในกรณีนี้ควรให้วิศวกรหรือบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะมาดำเนินการให้ ราคาโดยรวมค่อนข้างแพง ควรเปรียบเทียบกับการรื้อถอนแล้วก่อสร้างใหม่ว่าคุ้มค่าหรือไม่         

  สรุปว่าหากจะคิดก่อสร้างส่วนต่อเติม ต้องก่อสร้างแยกส่วนจากตัวบ้านอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันปัญหาใน ส่วนตต่อเติมทรุด ตัวจนเกิดรอยแตกร้าว หรือดึงโครงสร้างบ้านเดิมเสียหายไปด้วย Gurude.co