เทคนิคการใช้สีสเปรย์

1720
สีสเปรย์

          การใช้ สีสเปรย์ ที่ดีนั้นจะต้องคำนึงถึงขั้นสภาพชิ้นงานว่าเป็นชิ้นงานใหม่ หรือชิ้นงานเก่า ถ้าชิ้นงานใหม่ไม่เคยพ่นสีมาเลยก็จะทำง่ายกว่า เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหารอยต่อของสีเก่าและสีทำใหม่ แต่ถ้าเป็นชิ้นงานที่เคยผ่านการพ่นสีมาแล้วขั้นตอนการทำก็จะมากกว่าเดิม แต่การที่จะพ่น สีสเปรย์ ให้ออกมาสวยงามจะขึ้นอยู่กับปัจจัยและองค์ประกอบหลายๆอย่าง เช่น คุณภาพของสินค้า ทักษะความชำนาญของผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น           

เทคนิคการใช้ สีสเปรย์

     1.การเตรียมพื้นผิว ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งในการพ่นสีเลยก็ว่าได้ แต่ผู้ใช้บางคนก็ยังคิดว่า การเตรียมพื้นผิว และการพ่นสีพื้น เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสำคัญ เพราะจริงๆแล้ว การที่สีทับหน้าที่เราพ่นจะมีความทนทาน ไม่ลอก ไม่ร่อน นั้นปัจจัยหลักมาจากการเตรียมพื้นผิว

      ในส่วนของการเตรียมพื้นผิวจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

– ชิ้นงานใหม่ไม่เคยผ่านการทำสีมาก่อน คือชิ้นงานที่เป็นผิวของวัสดุโดยตรง เช่น โลหะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เหล็ก อลูมิเนียม พลาสติก เป็นต้น ชิ้นงานประเภทนี้ในกรณีพื้นผิววัสดุมีความเรียบเนียนดีอยู่แล้ว สามารถทำความสะอาดคราบฝุ่น คราบไขมัน และคราบสกปรกต่างๆ ให้สะอาดโดยการใช้ผงซักฟอกและล้างออกด้วยน้ำให้สะอาด และใช้กระดาษทรายน้ำเบอร์ละเอียดตั้งแต่เบอร์ 320-600 ลูบปรับสภาพพื้นผิวให้เรียบเนียนอีกครั้ง แล้วทำการพ่นสีพื้นโดยเลือกตามชนิดของวัสดุให้ถูกต้อง

– ชิ้นงานที่ผ่านการทำสีมาแล้ว ชิ้นงานลักษณะนี้อาจต้องใช้ทักษะกว่าอย่างแรกนิดหน่อย เริ่มจากทำความสะอาดชิ้นงานด้วยน้ำสบู่ หรือ ผงซักฟอก ล้างออกด้วยน้ำจนสะอาดเพื่อชะล้างสิ่งสกปรก คราบฝุ่น ไขมัน ต่างๆออกจากตัวชิ้นงาน  หากชิ้นงานที่เราจะพ่นต้องมีงานแก้ไขชิ้นงานหรือลักษณะการพ่นซ่อม คือไม่พ่นทั้งชิ้น  เช่น แผลหินกะเทาะ รอยถลอกลึก แผลเท่านิ้วโป้ เป็นต้น แต่เพื่อให้สีเกิดความเรียบเนียนจึงจำเป็นต้องเคลือบแลคเกอร์ทั้งชิ้นงาน ในขั้นตอนแรกก็ทำความสะอาด จากนั้นทำการเปิดแผลซ่อมด้วยกระดาษทราย ขึ้นอยู่กับความลึกของแผล จากนั้นพ่นสีรองพื้นประมาณ 2 เที่ยวให้กลบรอยที่เกิดจากการขัดกระดาษทรายทั้งหมด หลังจากพ่นสีพื้นเสร็จใช้กระดาษทรายเบอร์ 1000 – 1500 ลูบชิ้นงานทั่วทั้งชิ้นเพื่อรอการพ่นสีจริงและเคลือบแลคเกอร์

         2.การพ่นสีจริง หลังจากปล่อยสีพื้นให้แห้งดี พ่นสีทับหน้า ประมาณ 2-3 เที่ยว โดยในเที่ยวแรก ให้พ่นโปรยบางๆไปก่อนฟิล์มสีในเที่ยวนี้จะขึ้นไม่สม่ำเสมอ หรือ เป็นจ้ำๆ บ้างก็ไม่เป็นไรทิ้งระยะไว้ประมาณ 10 นาที พ่นเที่ยวที่ 2 พ่นโปรยบางๆ เหมือนในเที่ยวแรก แต่สามารถพ่นอัดได้นิดหน่อย แต่ระวังอย่าพ่นอัดมากเดี๋ยวสีจะไหลเยิ้ม ในเที่ยวนี้ฟิล์มสีจะค่อยๆเต็มขึ้น แต่ลักษณะของสีบางประเภทต้องพ่นซ้ำมากกว่า 3 ครั้งก็มี ทั้งนี้ท้ังนั้นผู้ใช้ควรดูให้แน่ใจด้วยว่าสีทับหน้ามีการกลบตัวดีแล้ว

ข้อมูลความปลอดภัยในการใช้ สีสเปรย์ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

1. สามารถเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ, ทางเดินอาหาร, ผิวหนัง และทางตา โดยทำให้เกิดการระคายเคือง และการอักเสบ
2. กรณีสัมผัสทางผิวหนัง : ให้ล้างออกด้วยน้ำร่วมกับสบู่ ผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาด
3. กรณีสัมผัสทางตา : ล้างด้วยน้ำสะอาด, น้ำยาล้างตา หากมีอาการทางสายตาให้รีบไปพบแพทย์
4. ควรสวมหน้ากากป้องกันไอสารเคมีหรือผ้าปิดจมูก ถุงมือ และแว่นตากันสารเคมีขณะใช้งาน และควรใช้งานในบริเวณที่มีการระบายอากาศที่ดี
5. กรณีสัมผัสทางการหายใจ : ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก อาจใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ ในกรณีรุนแรง หลีกเลี่ยงการช่วยหายใจโดยการผายปอดแบบเป่าปาก
6. การจัดเก็บ ให้ปิดฝาภาชนะบรรจุให้สนิท และเก็บในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก เก็บให้ห่างจากแสงแดด ความร้อน ประกายไฟ โดยตรง และห้ามโยนภาชนะอย่างแรง
7. ผู้ใช้งานควรทำการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะคนงานในบางอุตสาหกรรมที่มีการใช้ สีสเปรย์ หรือสีพ่นมาก
8. ขวดสีสเปรย์ที่ใช้แล้วห้ามทิ้งถังขยะทั่วไป ควรเก็บรวบรวมและส่งกำจัดให้ถูกต้องตามกฏหมาย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้ เพราะถือว่าเป็นขยะอันตรายชนิดหนึ่งที่ทางกรมโรงงานบังคับให้กำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ และเป็นไปตามประกาศของกรมโรงงาน Gurude.co